KBANK : ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
หมวดธุรกิจ : ธุรกิจการเงิน  www.kasikornbank.com

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
 

-----------------------------------------------------------------------
จันทร์ 23 เม.ย.2555--KBANK :
ที่มา : Company Update : บล.คันทรี่ กรุ๊ป

บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)   
KBANK ประกาศกำไร Q1/12 ทุบสถิติที่ 8.98 พันลบ. เติบโตขึ้นทั้ง QoQ และ  YoY

     ประเด็นหลักที่ทำให้กำไรสุทธิ Q1/12 ของ KBANK ขยายตัวมาก คือ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เติบโตขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายการดำเนินงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  โดยมีรายละเอียดดังนี้
     1.รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิอยุ่ที่ 1.49 หมื่นลบ. ทรงตัว QoQ แต่ + 15.2% YoY  ทั้งนี้มาจากการปล่อยสินเชื่อที่ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยราว 0.8% เป็น 1.22 ล้านล้านบาท นำโดยสินเชื่อ Corporate ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม  ส่วน SME และ Retail คาดว่าจะทรงตัวในไตรมาสนี้  ส่งผลให้ NIM (ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ) ลดลงเป็น 3.4%  ตามทิศทางดอกเบี้ย R/P ที่มีการปรับลดลง
     2.รายได้ค่าธรรมเนียมบริการสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง +12.6% QoQ เป็น 5.5 พันลบ. จากรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมสินเชื่อ ธุรกิจบัตรเครดิต เดบิต และ ATM  และในส่วนของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยขยายตัวขึ้นมาด้วยเช่นกัน โดย +9.2% QoQ เป็น 2.4 หมื่นลบ. ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรายได้เบี้ยประกันภัยรับสุทธิของ บจก.เมืองไทยประกันชีวิต
     3.ค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลงเหลือ  1.02 หมื่นลบ. (-17% QoQ) เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษจากผลกระทบน้ำท่วมเข้ามาเหมือนในไตรมาสก่อน รวมถึงค่าใช้จ่ายทางการตลาดลดลง ส่งผลให้ Cost to income ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 54.7% เป็น 41.4% สำหรับการกันสำรองหนี้ฯ ลดลงมาอยู่ที่ 1.8 พันลบ.(-15% QoQ) และ NPL ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 2.22%
     ส่งผลให้  KBANK มีกำไรสุทธิ Q1/12 ที่ 8.98 พันลบ. (+47% YoY และ + 196% QoQ ) EPS ที่ 3.76 BV ที่ 74.86  ROE 21.5% และ ROA 2.08%   ทั้งนี้เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อ KBANK เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อยังคงขยายตัวได้ดีในปีนี้ จาก Soft loan ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SME และ Retail ราว 4 หมื่นลบ. รวมถึงสินเชื่อ Project loan โครงการใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งจะเข้ามาในช่วงไตรมาส 2/55 เป็นต้น ดังนั้นคาดว่า KBANK จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 7- 9% อีกทั้งแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมจะขยายตัวมากขึ้น ตามธุรกรรมสินเชื่อ และบัตรเครดิต  แต่แนะนำ ซื้อเก็งกำไร  เนื่องจากมี upside  4% จากราคาพื้นฐานที่ ที่ 166 บาท (P/BV 2.1 เท่า)
-----------------------------------------------------------------------
 พุธ 11 ม.ค.2555--KBANK :
ที่มา : Company Update : บล.คันทรี่ กรุ๊ป

บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
KBANK: กำไร Q4/11 ทรุด, รายได้ค่าธรรมเนียมลดลง, กันสำรองหนี้และค่าใช้จ่ายดำเนินการพุ่งขึ้นจากวิกฤตน้ำท่วม
ประเด็นหลักที่ทำให้กำไร Q4/11 ของ KBANK ลดลงอย่างมาก คือ

     1.แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อจะยังคงเติบโตขึ้นราว 0.6% QoQ มาอยู่ที่ 1.21 ล้านล้านบาท แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภัยน้ำท่วมซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงคาดว่ารายได้จากดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 0.6% เป็น 2.22 หมื่นลบ. ในขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นมากราว 4.9% เป็น 7..8 พันลบ. จากการที่ปริมาณเงินฝากและตั๋ว B/E สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 1.6% QoQ มาอยู่ที่ 1.44 หมื่นลบ.
     2.รายได้ค่าธรรมเนียมบริการสุทธิปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือ 4.8 พันลบ (-12.7% QoQ) จากผลกระทบวิกฤตน้ำท่วม ทำให้ต้องปิดให้บริการในสาขาที่ถูกกระทบ รวมถึงเครื่อง ATM อีกทั้งมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมโอนเงินในเขตน้ำท่วมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย
     3.ค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงขึ้นเป็น 1.08 หมื่นลบ. (+5.6% QoQ) จากค่าใช้จ่ายพนักงาน และอาคาร สถานที่ อุปกรณ์ที่สูงขึ้นเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ประภัยน้ำท่วม การปรับขึ้นเงินเดือน โบนัส และการซ่อมแซมสาขา และตู้ ATM ส่งผลให้ cost to income เพิ่มขึ้นเป็น 47% จาก 43.6% ในไตรมาสก่อน อีกทั้งในไตรมาสนี้ KBANK มีการปรับเพิ่มกันสำรองหนี้เพิ่มขึ้นจากปกติที่ 1.7 พันลบ./ไตรมาส เป็น 2.5 พันลบ. เพื่อรองรับกับปัญหา NPL ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม KBANK ให้ความเห็นว่าปัญหา NPL จะเพิ่มเพียงเล็กน้อยราว 0.1% ของสินเชื่อทั้งหมด เนื่องจากลูกค้าได้เข้าขอความช่วยเหลือ และมีการผ่อนผันให้แก่ลูกค้าเป็นส่วนใหญ่แล้ว
     ดังนั้นจึงประเมินกำไรสุทธิของ KBANK ใน Q4/11 ที่ 6.4 พันลบ. (-17.5% QoQ แต่ +21.2% YoY) EPS ที่ 2.67 BV ที่ 69.18  ROE 16.4% และ ROA 1.44% ทั้งนี้เรายังคงแนะนำ ซื้อลงทุน KBANK โดยประเมินราคาพื้นฐานไว้ที่ 141 บาท  (P/BV 2.0 เท่า) เนื่องจากคาดว่า GDP ในปี 2555 จะเติบขึ้นจากปีก่อนราว 3.5 - 4.8% ซึ่งทำให้การปล่อยสินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากการกลับมาเดินเครื่องผลิตของอุตสาหกรรม และ SME  รวมถึงการบริโภคที่จะเร่งตัวขึ้นภายหลังภาวะน้ำท่วมเข้าสู่ภาวะปกติ และการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่างๆของภาครัฐบาลด้วย
     หมายเหตุ: กำไรสุทธิ Q4/11 ที่ประมาณนั้น ยังไม่รวมค่าใช้จ่าย Deferred tax ที่เกิดขึ้นจากการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ในปี 2555 และ 23% เป็น 20% ในปี 2556 จำนวน 1.94 พันล้านบาท เนื่องจากธนาคารยังได้ข้อสรุปว่าจะบันทึกค่าใช้จ่ายดังกล่าวในงบดุลผ่านกำไรสะสม หรือบันทึกเข้างบกำไรขาดทุน ทั้งนี้คาดว่าจะทราบผลราว 10 ม.ค.นี้

-----------------------------------------------------------------------
จันทร์ 9 ม.ค.2555--KBANK :
ที่มา : DAILY STOCK : บล.เกียรตินาคิน

KBANK  (KASIKORNBANK PCL.)
Sector  :  Banking
คำแนะนำ                  ซื้อ
Fair Value'55 (Bt)  144.00
Closed Price (Bt)   115.00
Upside Gain         25.22%
Dividend Yield 55F  3.26%
     จาก NPL ที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากภาวะน้ำท่วม ทำให้ KBANK จะมีการตั้งสำรองในไตรมาส 4/54 สูงกว่าปกติที่ 2.5 พันล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไตรมาสละ 1.7 - 1.9 พันล้านบาท และทำให้เราคาดว่ากำไรสุทธิไตรมาสจะลดลง 35% QoQ และ 5% YoY และอาจจะลดลงได้มากกว่านี้หาก KBANK มีการบันทึกการปรับบัญชี Deferred Tax ผ่านงบกำไรขาดทุน ซึ่งทำให้ราคาเหมาะสมปรับลดลงเหลือ 144 บาท ยังคงมี Upside gain เหลืออยู่ 25.2% จึงยังคงแนะนำ "ซื้อ"
คาดกำไรไตรมาส 4/54 ลดลง 35% QoQ และ 4.6%YoY และอาจจะลดลงมากกว่านี้หากต้องมีการบันทึกการปรับบัญชีภาษี
     เราคาดว่า KBANK จะมีกำไรสุทธิไตรมาส 4/54 ราว 5,039 ล้านบาท ลดลง 35% QoQ และ 5% YoY ถึงแม้ว่าการที่สินเชื่อยังคงเติบโตจะทำให้รายได้ดอกเบี้ยของ KBANK ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 5% QoQ และ 38% YoY แต่ผลจากน้ำท่วมทำให้ผลตอบแทนสินเชื่อลดต่ำลงและทำให้ KBANK จำเป็นที่จะต้องมีการตั้งสำรองในไตรมาสนี้สูงถึง 2.5 พันล้านบาท เพื่อเตรียมไว้รองรับ NPL ที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นจากน้ำท่วม นอกจากนี้การที่ลูกค้าออกมาทำธุรกรรมไม่ได้ รวมกับการลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขตของ ธปท. ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมลดต่ำลงด้วย นอกจากนี้แล้วกำไรสุทธิของ KBANK ในไตรมาส 4/54 อาจจะลดต่ำกว่านี้เป็น 3,097 ล้านบาท หากมีการบันทึกการปรับบัญชีเรื่อง Deferred tax จำนวน 1.9 พันล้านบาท ผ่านงบกำไรขาดทุน โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนเรื่องนี้จากสภาวิชาชีพบัญชี
NPL ในไตรมาสนี้จะเพิ่มขึ้น KBANK จึงได้มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับ และเผื่อ NPL ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย
     เราคาดว่าในไตรมาส 4/54 KBANK จะมีปริมาณ NPL เพิ่มขึ้นเป็น 3.15 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่มีอยู่ 3 หมื่นล้านบาท แต่สินเชื่อที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมจะลดลงเหลือ 2.21% จากไตรมาสก่อนที่มีอยู่ 2.25% แต่ NPL ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ก็ทำให้ KBANK จะมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 พันล้านบาท จากเดิมที่จะตั้งประมาณไตรมาสละ 1.7 - 1.9 พันล้านบาท ซึ่งการตั้งสำรองที่มากกว่าปกติในไตรมาสนี้นอกจากจะเป็นการตั้งสำรองที่มากขึ้นเพื่อรองรับ NPL ที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/54 ยังเป็นการตั้งสำรองไว้เผื่อ NPL ที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย โดยในปี 2555 KBANK จะกลับมาตั้งสำรองไตรมาสละ 1.7 - 1.9 พันล้านบาท เหมือนเดิม
คาดสิ้นปี 2554 ปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้ 12.6% และปี 2555 ยังคาดหวังการเติบโตต่อเนื่องได้
     เราคาดว่า ณ สิ้นปี 2554 KBANK จะปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากปีก่อนได้ 12.6% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ปล่อยเพิ่มได้ 11.4% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอตัวลงเนื่องจากประสบกับปัญหาน้ำท่วม ส่วนในปี 2555 ผู้บริหาร KBANK มีมุมมองเป็นบวกเพิ่มมากขึ้นต่อการเติบโตของสินเชื่อ โดยคาดว่าสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น 9 - 11% ซึ่งเป็นกรณีปกติ และสินเชื่อไม่น่าจะเพิ่มขึ้นเท่ากับกรณีเลวร้ายที่เดิม KBANK คาดไว้ว่าสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น 7 - 9% โดย KBANK ตั้งเป้าจะขยายตัวในทุกกลุ่มสินเชื่อ ส่วนเรายังคงประเมินอย่าง Conservative โดยเราคาดว่าปี 2555 KBANK จะมีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 8%
การปรับบัญชีจาก Deferred Tax ทำให้ราคาเหมาะสมลดลงเหลือ 144 บาท คงแนะนำ "ซื้อ"
     เราคาดว่าปี 2554 KBANK จะมีกำไรสุทธิ 26,232 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 10.96 บาท ลดลงจากประมาณการเดิมของเราที่คาดไว้ที่ 27,959 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 11.68 บาท เนื่องจากการตั้งสำรองที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/54 และเราได้ปรับลดประมาณการเงินปันผลปี 2554 ลงด้วยเหลือ 3.25 บาท/หุ้น คิดเป็น Div. yield 2.83% จากเดิมที่เราคาดไว้ที่ 3.50 บาท/หุ้น โดย KBANK ได้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 0.50 บาท/หุ้น เหลืองเงินปันผลครึ่งหลังอีก 2.75 บาท/หุ้น คิดเป็น Div. yield 2.39% อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิปี 2554 ของ KBANK อาจจะต่ำกว่านี้ได้เป็น 24,290 ล้านบาท หากการปรับบัญชี Deferred Tax ทำผ่านงบกำไรขาดทุน โดยในเบื้องต้นเราคาดว่า KBANK นั้นจะบันทึกค่าใช้จ่ายนี้ผ่านส่วนของผู้ถือหุ้น และไม่มีผลต่อประมาณการเงินปันผล
     ส่วนปี 2555 เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิของ KBANK ไว้ที่ 31,706 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 13.25 บาท และคาดว่าจะมีการจ่ายปันผล 3.75 บาท/หุ้น คิดเป็น Div. yield 3.26% ไม่ว่า KBANK จะใช้วิธีปรับบัญชี Deferred Tax ผ่านงบกำไรขาดทุนหรือทำผ่านงบดุล ก็จะส่งผลเหมือนกันคือทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นลดต่ำลง ซึ่งจะกระทบกับราคาเหมาะสมของเราให้ลดลงเล็กน้อย เหลือ 144 บาท จากเดิมที่ 145 บาท ยังมี Upside gain เหลืออยู่ 25.2% จึงยังคงแนะนำ "ซื้อ" แต่ราคาหุ้นของ KBANK อาจจะได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการโอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่อาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายของกลุ่มธนาคารเพิ่มสูงขึ้น และผลจากกำไรไตรมาส 4/54 ที่จะลดต่ำลงจากการตั้งสำรองเพิ่มมากขึ้น

-----------------------------------------------------------------------
จันทร์ 9 ม.ค.2555--KBANK :
ที่มา : วิเคราะห์หุ้นรายวัน : บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง

บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
ซื้อเมื่ออ่อนตัว (unchanged)
ราคาปิด (บาท):       115.00
ราคาเป้าหมาย (บาท):  135.00
คาดกำไร 4Q54 หดตัวแรงจากน้ำท่วมและรายการพิเศษ
     เราคาดกำไรสุทธิ 4Q54 จะหดตัวแรง 45%qoq และ 19%yoy จากผลกระทบของภาวะน้ำท่วมและรายการพิเศษทางภาษี สำหรับปี 2555 เราคาดการเติบโตของกำไรในระดับ 24%(หากไม่รวมรายการพิเศษเติบโต 16%) แม้ว่าเราจะมีมุมมองในเชิงบวกสำหรับปัจจัยพื้นฐานในระยะยาว แต่ในระยะสั้นกลุ่มธนาคารยังคงมีความเสี่ยงจากกรณี FIDF เราจึงแนะนำเพียง "ซื้อเมื่ออ่อนตัว" ราคาเป้าหมาย 135 บาท
คาดกำไร 4Q54 หดตัวแรงจากผลกระทบน้ำท่วมและรายการพิเศษทางภาษี
     คาดผลการดำเนินงาน 4Q54 ของ KBANK จะออกมาค่อนข้างแย่ กำไรสุทธิหดตัว 45%qoq และ 19%yoy เหลือ 4.3 พันล้านบาท โดยประเด็นหลักมาจากรายการพิเศษทางภาษี ในการปรับปรุงบัญชีส่วนของ Deferred Tax หลังรัฐบาลประกาศปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% สำหรับปี 2555 และ 20% สำหรับปี 2556-57 ส่งผลให้ KBANK ต้องบันทึกค่าใช้จ่ายภาษีเพิ่มเติม 1.9 พันล้านบาท (อย่างไรก็ตามกรณีนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะบันทึกผ่านงบกำไรขาดทุน หรือสามารถบันทึกผ่านกำไรสะสมโดยตรง ซึ่งหากเป็นกรณีหลัง คาดกำไรของ KBANK ใน 4Q54 จะอยู่ที่ระดับ 6.2 พันล้านบาท) นอกจากนี้ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมยังกดดันการขยายตัวของสินเชื่อให้เติบโตเพียง 1%qoq แม้ว่าปกติจะเป็นช่วงความต้องการสินเชื่อสูง รวมทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมคาดหดตัว 7%qoq และส่งผลให้ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 พันล้านบาทจากปกติที่ไตรมาสละ 1.7 พันล้านบาท โดย NPL คาดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยใน 4Q54 และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอีกใน 1Q55 จากผลการดำเนินงานที่น่าผิดหวังใน 4Q54 ส่งผลให้กำไรทั้งปีจะอยู่ที่ระดับเพียง 2.55 หมื่นล้านบาท เทียบกับที่เราเคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 2.73 หมื่นล้านบาท และเติบโต 27%yoy
มุมมองสำหรับปี 2555 ยังคงดี คาดกำไรเติบโต 24%
     KBANK ตั้งเป้าหมายการขยายธุรกิจในปี 55 อย่างแข็งแกร่ง โดยคาดการณ์ GDP growth ที่ระดับ 4.3% และตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 9-11% NIM ทรงตัวที่ระดับ 3.4-3.5% ขณะที่การขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยคาดเติบโตมากกว่า 18% Cost-to-income ratio คาดปรับตัวลดลงจากปี 54 ระดับ 1% ส่วน NPLs ยังอยู่ต่ำกว่า 2.7% และการตั้งสำรองในระดับ 1.7-1.9 พันล้านบาท/ไตรมาส ซึ่งเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้ค่อนข้างใกล้เคียงกับที่เราคาด แต่ประมาณการของเราค่อนข้าง Conservative กว่า เนื่องจากเราคาด GDP ปี 55 เพียง 4.0% และคาดการขยายตัวของสินเชื่อที่ระดับ 8% อย่างไรก็ตามเรายังคงประมาณการเดิมของเราไว้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังคงความเสี่ยงค่อนข้างสูงทั้งจากปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ โดยเราคาดกำไรสุทธิของ KBANK ปี 55 ที่ 3.16 หมื่นล้านบาท เติบโต 24%yoy (แต่หากไม่รวมรายการพิเศษคาดเติบโต 16%)
ปัจจัยเสี่ยงยังคงมี...แนะนำ "ซื้อเมื่ออ่อนตัว"
     แม้เราจะยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อปัจจัยพื้นฐานระยะยาวของ KBANK ทั้งด้านความแข็งแกร่งของเงินทุนและการเติบโตของผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงสั้น เรายังคงมองเห็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันราคาหุ้น ทั้งจากความประเด็นวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป รวมทั้งปัจจัยในประเทศเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการหาแหล่งรายได้เพื่อใช้ในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของ FIDF ซึ่งอาจต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม รวมทั้งผลการดำเนินงาน 4Q54 ที่คาดว่าจะออกมาย่ำแย่ ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่ 1.5 เท่า PBV ซึ่งแพงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 1.3 เท่า เราจึงคงคำแนะนำ "ซื้อเมื่ออ่อนตัว" โดยให้ราคาเป้าหมาย 135 บาท
----------------------------------------------------------------------